วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
ขนมขบคิด ขนมขบเคี้ยว
พีระพล เลาหเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สินสาลี สแน็คแอนด์บิสกิต ชื่อบอกยี่ห้อแล้วว่าทำธุรกิจขนมขบเคี้ยวแน่ๆ เขามีความคิดแหวกแนวไปอีกทางหนึ่ง
เมื่อ 5 ปีก่อน เขาเคยเป็นหุ้นส่วนอยู่ในธุรกิจขนมปังจำพวกเอบีซีกรุบกรอบ และมีไอเดียผุดขึ้นมาบนหัวว่า ทำไมพวกขนมนมเนยถึงไม่ค่อยมีงานวิจัยออกมาให้เห็นกัน ขนาดสินค้าพวกอุปโภคอย่างยาสีฟัน สบู่ แชมพู ครีมนวดผม ก็ยังเห็นมีสารพัดสูตรออกมาเป็นระยะ กันคนเบื่อแล้วเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้อใหม่
เขาจึงตัดสินใจออกมาสร้างบริษัทขึ้นเองใหม่ เพื่อเนรมิตความคิดให้เป็นผลิตภัณฑ์ตามความคิดบรรเจิด
“ผมมองว่าการเริ่มธุรกิจใหม่ สิ่งสำคัญคือ จะต้องสร้างความแตกต่างจากตลาดทั่วไปให้เกิดขึ้นในตัวสินค้าเราเองก่อน แล้วผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าผลิตภัณฑ์ที่เราพัฒนาขึ้นเป็นของใหม่หรือไม่ และหากผลิตภัณฑ์เราดีจริงไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนลูกค้าจะเป็นผู้มาหาเราในที่สุด”นักธุรกิจคิดวิจัยบอก
นั่นคือจุดเริ่มต้นของธุรกิจขนมปัง ภายใต้ชื่อ หจก.สินสาลี สแน็คแอนด์บิสกิต ที่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมขบคิด กรุบกรอบ แบบเต็มคุณค่าที่มีความต่างจากท้องตลาดทั่วไปอย่างไม่รู้จบ
"ผมตั้งเป้าออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 สินค้า เพราะหากวันไหนที่เราหยุดคิดเราก็จะไม่มีของใหม่ไปขาย"
เขายอมรับโดยดุษฎีว่า ทีแรกยังแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตลาดจะเป็นอย่างไร กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร อยู่ตรงไหนบ้าง คิดมั่นอยู่อย่างเดียวว่า ถ้าต้องการขายจะต้องสร้างจุดต่าง ผลิตภัณฑ์จะสู้ด้วยราคาเหมือนอย่างผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดไม่ได้
สิ่งแรกที่บริษัททำคือ ตระเวณหาที่ปรึกษาช่วยเหลือทั้งด้านการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่และเครื่องจักรที่รองรับการผลิต จนมามีโอกาสร่วมมือกับนักวิจัยที่ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) ในปี 2550
ประเดิมตลาดใหม่สู่ "น่านน้ำสีคราม" บลู โอเชี่ยน ด้วยแครกเกอร์จากไหมข้าวโพด แครกเกอร์จากข้าวหอมมะลิ กุ้งเคย และข้าวกล้องงอก ต่างจากตลาดเดิมอย่างสิ้นเชิง รวมถึงเครื่องจักรที่สอดรับกับขั้นตอนการผลิต ซึ่งอาศัยหลักการทำงานคล้ายเครื่องจักรเดิมที่เคยใช้เมื่อครั้งยังเป็นหุ้นส่วนธุรกิจขนมปัง
ความร่วมมือกันระหว่างนักธุรกิจเจ้าความคิดกับนักวิจัยมากความรู้นำมาสู่การคิดค้นวัตถุดิบชนิดใหม่ และกระบวนการผลิตที่ไม่เหมือนใคร จนเกิดเป็นมูลค่าเพิ่มจากคุณค่าในตัวสินค้าเอง รวมถึงมีจุดต่างจากขนมปังในท้องตลาดตรงที่ไม่ได้เน้นการผลิตปริมาณจำนวนมากในคราวเดียว เพื่ออเกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุนต่อครั้งการผลิตและขายในราคาถูก แต่เป็นการผลิตที่เพ่งคุณภาพ
"อุตสาหกรรมขนาดย่อมจะประสบความสำเร็จได้ อย่างแรกต้องเปิดใจ พร้อมจะแลกเปลี่ยนความรู้ที่ตัวเองมีกับผู้ที่เราต้องการขอความรู้ ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย หรือผู้บริโภค จะต้องไม่คิดว่าตัวเองเจ๋ง เก่ง หรือดีที่สุด เพราะการคิดอย่างนั้นจะไม่มีคนช่วยเหลือสักคนเดียว" เจ้าของผลิตภัณฑ์แครกเกอร์จากหัวคิด กล่าว
เขายังบอกอีกว่า เพราะคิดอย่างที่กล่าวข้างต้นทำให้รู้จักคนมากขึ้น และเป็นที่มาของความร่วมมือกับนักวิจัยมากมาย อย่างเช่น ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี หน่วยงานในสังกัดของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้โครงการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน (โครงการซีดี) ซึ่งมีประโยชน์ต่อบริษัทในด้านการขอกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเพื่อการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และเครื่องจักรในโรงงาน เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา
โครงการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน เข้าใจว่าบริษัทต้องการอะไร และยังช่วยคิดแผนธุรกิจว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน รูปแบบไหน แล้วจึงประเมินโอกาสความเป็นไปได้ หากพบว่าสามารถเกิดได้จริง ก็จะหาผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะกับธุรกิจให้ดำเนินการสนับสนุนกันต่อไป
“พูดง่ายๆ สิ่งที่บริษัทต้องการคือ ห้องปฏิบัติการสำหรับทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ขนมปังได้เองเพื่อควบคุมคุณภาพการผลิตได้สม่ำเสมอ ไม่ต้องส่งไปทดสอบที่อื่นให้สิ้นเปลือง รวมถึงใช้วิจัยและพัฒนาเพิ่มคุณสมบัติให้ผลิตภัณฑ์ในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการวางแผนสร้างโดยการสนับสนุนการกู้เงินอัตราดอกเบี้ยต่ำจากโครงการซีดีนั่นเอง” พีระพล กล่าว
กินขนมบำรุงกำลัง
ผลิตภัณฑ์ขนมปังที่บริษัทผลิตมีรูปลักษณะไม่ต่างจากขนมปังทั่วไป แต่สิ่งที่ผู้ผลิตตั้งใจทำขึ้นคือ การใส่ผักเข้าไปเป็นเป็นสูตรต่างๆ วิธีการดังกล่าวแม้ไม่ใช่วิธีใหม่แต่ก็ทำให้ผู้บริโภคได้กินอาหารที่มีประโยชน์ และผลิตภัณฑ์มีจุดเด่นด้านการเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
กระบวนการอบขนม บริษัทเลือกจะใช้ระบบไมโครเวฟอบหรือทอดขนมให้กรอบ เพื่อลดการใช้ก๊าซหุงต้ม หรือลดการใช้พลังงานในเตาอบแบบเดิมซึ่งต้องเปิดรักษาระดับอุณหภูมิความร้อนเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ตัววัตถุดิบการทำขนมปังบริษัทยังพยายามปรับปรุงสูตรให้ใช้แป้งข้าวของไทยเป็นส่วนผสมด้วย เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบต่างชาติ โดยบางสูตรสามารถใช้แป้งข้าวไทยมากกว่า 50% รสชาติของขนมมีแนวโน้มที่จะทำตลาดได้ไม่แพ้ขนมปังจากแป้งข้าวสาลี 100%
“อุปสรรคสำคัญคือ เงินทุน ลองถ้าทำธุรกิจแล้วทำใจได้เลยว่าเงินจมแน่นอนไม่ว่าธุรกิจอะไร แต่ให้คิดว่าเงินที่ได้มาไม่ว่าจะมากหรือน้อยนำไปต่อยอดงานวิจัย เราจะขายได้ไม่รู้จบเพราะสินค้าเราจะใหม่เสมอเช่นกัน และสุดท้ายจะได้รับคำชื่นชมจากทุกคนรอบข้างในที่สุด” พีระพล กล่าวและบอกว่า หากวันไหนเบื่อ เหนื่อย และคิดว่าไม่มีอะไรให้วิจัยและพัฒนาแล้วให้ปิดกิจการไปเลย เพราะจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราเบื่อกับงานตรงนี้และไม่ได้รักมันจริง
นางสาวสิริวิมล สมอุ่มจารย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท สีนิล ไรซ์ จำกัด (www.sininrice.com) ทำธุรกิจข้าวบรรจุถุงธุรกิจที่แข่งกันหลากแบรนด์ พอได้คลุกคลีกับเทคโนโลยีชีวิตก็เปลี่ยน
“ผลิตภัณฑ์ที่ทดลองเป็นแชมพูบำรุงและแก้ปัญหาผมหลุดร่วง แล้วเห็นว่าผลดีกับตัวเอง หลังจากเปลี่ยนมาหลายยี่ห้อ และมารู้ว่ามีผลิตภัณฑ์แปรรูปหลายอย่างทำมาจากข้าวสีนิล ทำเลยขยายกิจการจากค้าข้าวบรรจุถุง มาจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวสีนิลเป็นอาชีพใหม่อีกทางหนึ่งด้วย”
ผลิตภัณฑ์ที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ในการผลิตคือ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม สูตรสำหรับผมธรรมดา สูตรสำหรับผมมัน สูตรสำหรับผมหงอก และสูตรสำหรับผมเป็นรังแคที่สามารถรักษาโรคสะเก็ดเงินได้ด้วย
“ส่วนตัวคิดว่างานวิจัยจากข้าวนี้มีประโยชน์มาก ทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวไทย และสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ นอกจากการนำไปบริโภคเพียงอย่างเดียวเหมือนอย่างที่ผ่านมา”ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท สีนิล ไรซ์ จำกัด กล่าว
บริษัทอยู่ระหว่างนำสินค้าแปรรูปจากข้าวสีนิลอีก 2 กลุ่มทดลองตลาด ได้แก่ผลิตภัณฑ์ดูแลใบหน้า จำพวกเซรั่ม สบู่เหลว เจลดูแลรอบดวงตา และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกายจำพวก สบู่เหลว สบู่ล้างหน้าป้องกันฝ้าและกระ ทั้งยังมีแผนจะพัฒนาข้าวสีนิลให้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหารในอนาคตด้วย
เธอบอกว่า จุดเปลี่ยนของบริษัทหลังได้ร่วมงานกับนักวิจัยคือ ได้มีโอกาสเรียนรู้หลักการทำตลาดและเรียนรู้วิธีการที่จะควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้คงที่ในกระบวนการผลิต จากเดิมที่จะถนัดแต่เรื่องขายข้าวบรรจุถุงมากกว่า
ย้อมผ้า ไม่ย้อมแมว
นางประไพพันธ์ แดงใจ ประธานฑีตา กลุ่มทอผ้าย้อมครามธรรมชาติ พรรณนานิคม จ.สกลนคร เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ยอมย่ำอยู่ที่เดิม
เธอเล่าว่า ทางบ้านทำธุรกิจผ้าย้อมครามมาตั้งแต่ปี 2536 แต่มาเริ่มทำตลาดอย่างมั่นใจมากขึ้น หลังได้คำแนะนำนักวิจัยสวทช. ที่เข้ามาเผยความลับเกี่ยวกับผ้าย้อมคราม ที่ไม่มีวันสีตกเจ้าแรกในไทย
“ชาวบ้านอย่างเรามีภูมิปัญญาทำให้ผ้าสีไม่ตกมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่อธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงสีไม่ตก จนนักวิจัย สวทช.เข้ามาทำให้กระจ่างว่าเหตุใดผ้าย้อมครามจึงสีไม่ตก นั่นเพราะในสีย้อมผ้าที่ได้จากใบครามนี้มีจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งอยู่ และเมื่อน้ำย้อมสีและจุลินทรีย์อยู่ในภาวะสมดุล จะเกิดสมบัติทางเคมีทำปฏิกิริยาขณะย้อม และทำให้ผ้าสีไม่ตกนั่นเอง”ประธานฑีตา กลุ่มทอผ้าย้อมครามธรรมชาติ จากจ.สกลนคร อธิบายอย่างคล่องแคล่ว
คำตอบที่ได้จากนักวิจัยทำให้ชาวบ้านขายของได้มั่นใจขึ้น เพราะสามารถอธิบายหลักการที่เกิดขึ้นให้ลูกค้าฟังได้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงยอดขายก็เพิ่มขึ้นด้วย
ผลงานที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่ชิ้น จากผลงานงานวิจัยที่นำเสนอในงาน ตลาดนัด ชาววิทย์..ชิดชาวบ้าน ปี 2553 เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้นำไปใช้ประโยชน์
อย่างน้อยก็ประเดิมให้นักธุรกิจ นักการตลาดตื่นตัวที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้ดียิ่งขึ้น.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น