วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สธ.สั่ง รพ.ทั่วประเทศ เฝ้าระวังเชื้ออีโคไล


กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งการให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อแบคทีเรียชนิด Shigatoxin-producing E.coli (STEC) หรือเรียกกันว่า อีโคไล โอ 104 (E.coli O 104) หลังเชื้ออีโคไล โอ 104 แพร่ระบาดในประเทศแถบยุโรป และองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายตัว
 

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (
สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนว่า สธ.ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) พบโรคอุจจาระร่วงทั่วไป ถือเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศแถบร้อนปีละประมาณ 1 ล้านราย สำหรับไทย ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีรายงานว่าทั่วประเทศพบผู้ป่วยประมาณ 530,000 คน เสียชีวิต 21  คน แต่ยังไม่พบผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโคไลชนิดรุนแรงที่ทำให้เกิดอาการเม็ดเลือดแดงแตกและไตวาย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในยุโรปขณะนี้  
   

เชื้ออีโคไล โอ 104 เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ทั่วโลกต่างเฝ้าระวัง ทาง สธ.มีระบบเฝ้าระวังใน 2 ส่วน คือ 1.เฝ้าระวังที่ด่านอาหารและยา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการ 2.การเฝ้าระวังภายในประเทศ โดยประสานโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ หากพบผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัยหรือใกล้เคียง เช่น อุจจาระร่วงรุนแรง และมีประวัติการเดินทางก็จะส่งเชื้อไปตรวจในห้องปฏิบัติการทันที หากกรณีที่โรงพยาบาลใดตรวจเชื้อไม่ได้ให้นำส่งไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องกังวล สธ.มีเครือข่ายอยู่ตามโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนอยู่แล้ว การเฝ้าระวังจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ
 


นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กล่าวว่า ได้แจ้งให้สถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศเร่งตรวจผู้ป่วยที่มีการท้องร่วง มีมูกเลือด โดยนำมาตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ แต่เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่เคยพบการระบาด และทั่วโลกในโซนยุโรปยังพบโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออีโคไล โอ 104 น้อย จึงยังไม่น่าห่วงมากนัก
 


"ปัจจัยที่ก่อให้เกิดเชื้ออีโคไล โอ 104 มีรายงานว่า ในพื้นที่ที่ระบาดเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทำให้อาหารหรือผลิตผลทางการเกษตรมีการปนเปื้อน เมื่อกินเข้าไปก็ทำให้เกิดอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยที่เสียชีวิต ไม่ใช่เพราะเชื้อโดยตรง แต่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ถ่ายไม่หยุด อาเจียนบ่อย ทำให้ไตทำงานหนักจึงช็อค และเสียชีวิต ซึ่งพบว่าอาการจะรุนแรงขึ้นภายใน 3-4 วัน นับจากวันที่ได้รับเชื้อ" นพ.รุ่งเรืองกล่าว  
 


นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน อย.ได้สุ่มตรวจผักและผลไม้จากสเปน เยอรมนี บางส่วน แต่ยังไม่พบว่ามีการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไล 
  


ขณะที่สำนักข่าวเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเชื้อ "อีโคไลโอ" ที่แพร่ระบาดอยู่ในยุโรปโดยเฉพาะในเยอรมนี เป็นเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน และมีการตั้งข้อสงสัยว่าเชื้อมาจากมะเขือเทศ แตงกวา และผักกะหล่ำ แต่นักวิจัยก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าผักเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้มีผู้ล้มป่วยกว่า 1,600 คน ใน 10 ประเทศในยุโรป และเสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน โดยมีผู้ป่วยราว 500 คน ที่เริ่มมีอาการไตมีปัญหา
 

รายงานข่าวระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันจีโนมิกส์ปักกิ่ง หรือบีจีไอในเมืองเสิ่นเจิ้น ประเทศจีนและมหาวิทยาลัยศูนย์การแพทย์ฮัมบูร์ก-เอพเพนดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี วิเคราะห์ดีเอ็นเอของแบคทีเรียอีโคไล ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในยุโรปขณะนี้ จากผลการทดลองของห้องปฏิบัติการบีจีไอของจีน ระบุว่าการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ ที่มีความเป็นพิษร้ายแรง และยังมียีนที่ต่อต้านยาปฏิชีวนะอยู่เป็นจำนวนมาก แบคทีเรียอีโคไลสายพันธุ์ใหม่นี้เกิดจากการรวมตัวกันของเชื้ออีโคไล 2 สายพันธุ์ด้วยกัน ซึ่งนางฮิลด์ ครูส ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยด้านอาหารขององค์การอนามัยโลก (ฮู) เปิดเผยว่า เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบในผู้ป่วยมาก่อน มีคุณลักษณะหลายอย่างที่ทำให้สามารถแพร่ระบาดได้เร็วและมีความเป็นพิษมากกว่าเชื้ออีโคไลที่เคยพบก่อนหน้านี้ภายในลำไส้ของมนุษย์
  

ข่าวระบุว่า แม้จะยังไม่ทราบต้นตอของการระบาด แต่นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า เบื้องต้นพบว่าเกิดจากการปนเปื้อนในผักสดหรือสลัดในประเทศเยอรมนี โดยเชื้ออีโคไลปกติจะสามารถแพร่จากมนุษย์สู่มนุษย์ได้เพียงทางเดียวเท่านั้น คือจากมูลที่ถ่ายออกมาและเข้าสู่ทางปาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของเยอรมนีได้แนะนำให้ประชาชนใส่ใจกับเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการกินสลัดหรือผักสด
 

Tags : สธ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น