วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

รู้ทัน! สารพิษในเสื้อผ้า 'โนนิลฟีนอล' อันตรายมากกว่าปลากลายพันธุ์!


s 540901เสื้อผ้าที่เราสวมใส่กันอยู่เป็นประจำสวยเด่นนำแฟชั่นเพียงใดหลายคนทราบดี แต่สำหรับขั้นตอนการผลิตนั้นคงยากที่ใครจะสนใจว่าปลอดภัย จากสารพิษหรือไม่และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพราะถือเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วมันใกล้ปากเราเพียงนิดเดียว เนื่องจากมีการใช้สารพิษในกระบวนการผลิตที่มีผลกระทบต่อแหล่งน้ำและอาหารของมนุษย์ ซึ่งในอนาคตหากไม่มีการป้องกันจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ทั่วโลก

พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ให้ความรู้ว่า ปัจจุบันประเทศในกลุ่มเอเชีย เช่น จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าส่งออกของโลก โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมฟอกย้อมและสิ่งทอเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ที่สำคัญที่สุดคือในการผลิตผ้านั้นมีการใช้น้ำเป็นจำนวนมาก นั่นหมายถึงต้องมีการปล่อยน้ำเสียออกไปเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ซึ่งมันไม่ได้เป็นการใช้น้ำและปล่อยน้ำเสียอย่างเดียว แต่มีสารเคมีอันตรายที่ใช้ในกระบวนการผลิตปนเปื้อนไปด้วย

สารเคมีอันตรายที่ว่านี้คือ “สารโนนิลฟีนอลอีทอกซิเลท” (Nonylphenol Ethoxylates หรือ NPEs) เป็นกลุ่มสารเคมีที่เกิดจากการสังเคราะห์ขึ้นไม่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินอกเหนือจากกิจกรรมของมนุษย์ สารประกอบในกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มอัลคิลฟีนอลอีทอกซิเลท (Alkypheol Ethoxylates หรือ APEs) ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในบรรดาสารลดแรงตึงผิว รวมถึงใช้ในสูตรเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วย เมื่อปล่อยสู่ระบบบำบัดน้ำเสียหรือปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรง สารกลุ่มนี้จะแตกตัวเป็นสาร “โนนิลฟีนอล (Nonylphenol หรือ NPs) และด้วยคุณ สมบัติบางอย่างที่เป็นอันตราย จึงมีการควบ คุมในบางกลุ่มประเทศมาเกือบ 20 ปีแล้ว

สำหรับในประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่จำนวนมาก ถือเป็นนัยสำคัญต่อการเกิดปัญหามลพิษทางน้ำ เพราะสารเคมีอันตรายไม่ใช่ทำให้น้ำเสียทั่วไปเหมือนน้ำเสียจากบ้านเรือนหรือจากแปลงเกษตร ที่แค่ทำให้น้ำเน่าและมีวิธีแก้ที่ง่ายด้วยการเติมออกซิเจนลงไป แต่สารพิษอันตรายนี้เมื่อถูกปล่อยออกมาแล้วไม่สามารถกำจัดได้ เพราะมีคุณสมบัติตกค้างยาวนานไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และเมื่อสารพิษไปสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร เช่น ไปอยู่ในสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่เป็นอาหารของปลาและเมื่อปลากินสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ นี้เข้าไปก็อยู่ในตัวปลา และเมื่อมาถึงคนซึ่งเป็นห่วงโซ่สูงสุดรับประทานปลาเข้าไปก็ได้รับสารพิษนั้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงถือว่าเรื่องสารพิษนี้เป็นเรื่องสำคัญ

จากกรณีนี้ทำให้เราออกสำรวจและพบว่าอุตสาหกรรมฟอกย้อมผ้ามีการเกี่ยวโยงกับการใช้สารพิษนี้โดยตอนแรกพบสารโนนิลฟีนอลหรือเอ็นพีในกระบวนการย้อมผ้าและซักล้างที่โรงงานในประเทศจีน  2 แห่งซึ่งโรงงานทั้ง 2 แห่งนี้ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์เนมต่าง ๆ ให้ผลิตเสื้อผ้า จึงทำให้แบรนด์พวกนี้มีส่วนที่ทำให้เกิดมลพิษในน้ำ และแบรนด์พวกนี้มีการผลิตในประเทศไทยด้วย ที่สำคัญเราพบสารโนนิลฟีนอลในประเทศไทยแล้วจากการสุ่มตรวจดูตัวอย่างน้ำเสียของโรงงานฟอกย้อมที่ถูกปล่อยออกมา โดยสารตัวนี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่มีความเป็นพิษสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อม จากการค้นคว้าศึกษาพบว่าสามารถรบกวนระบบฮอร์โมน ถ้าพูดถึงสัตว์น้ำจะทำให้สัตว์น้ำมีการกลายพันธุ์แปลงเพศ ซึ่งตัวอย่างที่ได้รับการพิสูจน์แล้วคือปลาตัวผู้เบี่ยงเบนเป็นตัวเมีย ถือเป็นสารเคมีอันตรายที่ถูกกำหนดไว้อยู่ในกฎหมายของยุโรปและค่อนข้างต้องการกำจัดสารตัวนี้ ซึ่งเรามีตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่าไม่จำเป็นต้องใช้สารพวกนี้ได้

จากการสุ่มตรวจในแบรนด์กลุ่มใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันดีมียอดขายสูงจนพบสารพิษนี้จึงได้มีการรณรงค์ให้เลิกใช้ ซึ่งผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เป็นผู้นำนวัตกรรมจึงต้องคิดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยหลังจากรณรงค์ไปแล้วแบรนด์ดังบางแบรนด์ (พูม่าและไนกี้) ได้ออกมาประกาศว่าจะยอมเลิกใช้สารเคมีดังกล่าวและมีนโยบายที่มีข้อมูลชัดว่าใช้สารอะไรในกระบวนการผลิตสามารถตรวจสอบได้ แต่ยังมีบางยี่ห้อที่ไม่ยอมทำตาม หากถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ แน่นอนว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะประเทศในเอเชียกฎหมายอ่อนแอ แต่ถ้าพูดถึงความรับผิดชอบมันเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น เพราะสารเคมีเหล่านี้เป็น สารเคมีอันตราย!!!

s 540901 - 1 - 2-2นอกจากการพบสารโนนิลฟีนอลในกระบวนการผลิตแล้ว เรายังพบสารพิษนี้ปนเปื้อนมากับเสื้อผ้าที่ผู้บริโภคซื้อมาใช้ด้วย เพราะจากตัวอย่างที่เราสุ่มเก็บมาทั้งหมด 78 ตัวอย่าง จาก 18 ประเทศ พบว่า 52 ตัวอย่างมีการปนเปื้อนสารโนนิลฟีนอลจากการซักล้าง ซึ่งใน 52 ตัวอย่างนี้มี 4 ตัวอย่างที่ซื้อจากประเทศไทย  และใน 78 ตัวอย่างนี้มีผลิตในประเทศไทย 6 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อน 5 ตัวอย่าง ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าการที่เราไปซื้อเสื้อผ้าจากทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วยคละ ๆ กันไปประมาณ 15 ยี่ห้อ เมื่อนำเสื้อผ้ามาซักและนำน้ำไปเทสต์ ปรากฏว่าพบสารโนนิลฟีนอล นั่นหมายถึงว่าผู้ผลิตใช้สารเคมีอันตรายตั้งแต่กระบวนการผลิตทำให้มาอยู่ในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า และเมื่อมาถึงมือผู้บริโภคเมื่อซักออกมาแล้วก็มีสารพิษนี้อีกเช่นกันจึงกลายเป็นว่าผู้บริโภคที่ใช้เสื้อผ้าเองก็มีส่วนทำให้เกิดมลพิษทางน้ำด้วย

การตรวจสอบพบสารพิษนี้ถือว่าเป็นหนึ่งตัวอย่างที่สำคัญ แต่อาจจะมีสารเคมีอันตรายอื่น ๆ อีกก็ได้ ซึ่งยังไม่ได้ตรวจหรือยังตรวจไม่เจอก็ตาม จึงอยากขอให้ผู้ผลิตหรืออุตสาหกรรมเหล่านี้เลิกใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิตทั้งหมด ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ทราบว่าสารโนนิลฟีนอลที่อยู่ในผลิตภัณฑ์มีอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ เพราะยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างสารเคมีนี้กับผู้บริโภค แต่ที่ยุโรปได้กำหนดไว้ว่าผลิตภัณฑ์ทุกอย่างไม่เฉพาะที่เสื้อผ้า หากมีสารโนนิลฟีนอลอยู่เกิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักถือว่าผิดกฎหมายไม่สามารถนำเข้าประเทศได้ แต่ประเทศในกลุ่มเอเชียรวมทั้งประเทศไทยไม่มีกฎหมายนี้

อย่างไรก็ตามทั่วโลกทราบว่าโนนิลฟีนอลมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชัดเจนและมีผลกระทบต่อมนุษย์ได้จากการปนเปื้อนสารพิษในห่วงโซ่อาหาร โดยสารโนนิลฟีนอล นี้จะเข้าไปรบกวนระบบฮอร์โมนซึ่งไม่ใช่เฉพาะสัตว์แต่รวมถึงมนุษย์ด้วยอาจจะมีฮอร์โมนผิดพลาดหรือทำลายการทำงานฮอร์โมนของมนุษย์ โดยสารตัวนี้มีผลในระยะยาวไม่ใช่แค่โดนสารนี้แล้วจะเป็นทันทีทันใด แต่สารพิษจะค่อย ๆ สะสมอยู่ในร่างกายเมื่อถึงปริมาณที่มากพอแล้วก็ก่อให้เกิดผลกระทบ และที่สำคัญสารพิษนี้ไม่ได้ปนเปื้อนแค่อาหารที่เรารับประทานเข้าไป แต่มันปนเปื้อนในแหล่งน้ำดื่ม ซึ่งก็คือน้ำดื่มของเรามาจากแม่น้ำหากไปอยู่ท่อประปา เมื่อนำมาต้มหรือกรองก็ไม่สามารถกำจัดออกไปได้ทำให้เราได้รับสารพิษ ด้วย

ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบว่าผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ในระยะยาวเป็นอย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ต้องจะมานั่งรอการพิสูจน์ว่าผลกระทบระยะยาวคืออะไร เพราะสิ่งที่ต้องทำในตอนนี้คือป้องกันไว้ก่อน ทำอย่างไรไม่ให้มีสารพิษตัวนี้ลงน้ำและทำอย่างไรไม่ให้สารเคมีเหล่านี้ถูกใช้ในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง เป็นโจทย์ของทุก ๆ คนที่ต้องช่วยกันคิด ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมควรตรวจสอบว่ามีการใช้สารพิษตัวนี้หรือไม่และรณรงค์ยกเลิกการใช้อย่างเด็ดขาด ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลเรื่องกฎหมายควบคุม และสำหรับภาคประชาชนเองควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและร่วมกันเรียกร้องไปยังภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยี่ห้อเสื้อผ้าต่าง ๆ ที่เราใช้ให้มีความรับผิดชอบในด้านการใช้สารเคมีรวมทั้งมีนโยบายที่ไม่ใช้สารเคมีอันตราย

เมื่อทุกคนให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทรัพยากรทางน้ำที่ปัจจุบันพบว่าแม่น้ำของไทยกว่าร้อยละ 80 มีคุณภาพเสื่อมโทรมลงไปจากเดิม โดยเฉพาะมลพิษจากอุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมีอันตรายเป็นภัยหลักต่อทรัพยากรทางน้ำ เพราะจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและความปลอดภัยทางด้านอาหาร หากทุกภาคส่วนยอมรับและปรับปรุงเรื่องการใช้สารเคมีอันตรายด้วยความโปร่งใส ที่สุดแล้วหากสิ่งแวดล้อมสะอาดตัวเราเองก็จะปลอดภัยจากสารพิษทั้งมวล.


ทำเนียบการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) คืออะไร?

ปัจจุบันสิทธิการเข้าถึงข้อมูลการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างจำกัด โดยเฉพาะภาครัฐที่ขาดข้อมูลปัญหาด้านมลพิษจากอุตสาหกรรม ทำให้ทุกวันนี้ไม่มีใครทราบว่าสารเคมีอันตรายมีประเภทใดบ้าง ปริมาณเท่าไรที่โรงงานแต่ละแห่งปล่อยสู่แหล่งน้ำ เมื่อไม่ทราบข้อมูลก็ไม่เห็นปัญหาจึงไม่สามารถลดมลพิษได้ ทำให้หลายประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วมีระบบจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า Pollutant Release and Transfer Register : PRTR หรือทำเนียบข้อมูลการใช้งานและปล่อยสารเคมีอันตรายสู่สิ่งแวดล้อมหรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ทำเนียบการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม” มาประยุกต์ใช้และมีประโยชน์กับทุกภาคส่วนดังนี้

ภาครัฐ เช่น การติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินนโยบายการลดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม การวัดความสำเร็จของนโยบายสิ่งแวดล้อม การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน การศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการป้องกันมลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นต้น ภาคอุตสาหกรรม เช่น ตรวจสอบตัวเองหรือปรับปรุงระบบการตรวจสอบภายใน ป้องกันความสูญเสีย กระตุ้นให้ลดเลิกใช้สารเคมีอันตรายและใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยสารเคมีอันตายสู่สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของคนในโรงงาน และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น ภาคประชาชน เช่น เป็นเครื่องมือช่วยเข้าถึงข้อมูลด้านมลพิษและสารเคมีของโรงงานและของรัฐ การป้องกันตนเองและชุมชน การตรวจสอบโรงงานและเจรจาให้แก้ปัญหา เป็นเครื่องมือส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษ การสร้างกระบวนการเรียนรู้และเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและการศึกษาวิจัย เป็นต้น

การประยุกต์ใช้ทำเนียบการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมนี้หลาย ๆ ประเทศประสบความสำเร็จ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เกาหลีใต้ เม็กซิโก และอีกหลายประเทศกำลังพิจารณานำมาใช้ เช่น จีน ฟิลิปปินส์  ในขณะที่ประเทศไทยพยายามริเริ่มมาใช้แก้ปัญหาบริเวณมาบตาพุด แต่ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติและใช้อย่างจริงจัง ซึ่งเรากำลังผลักดันเป็นกฎหมายแต่ต้องรอความเห็นจากภาครัฐ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น